Manufacturing Expo Logo
18 - 21 มิถุนายน 2568

อีอีซี ผนึกกำลังมิตซูบิชิและพันธมิตร ย้ำความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ในงาน EEC Connecting Thailand and Japan Collaboration Announcement

นับตั้งแต่การจัดตั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันอออกหรือ อีอีซี เพื่อส่งเสริมการยกระดับและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมานานกว่าสามสิบปี พื้นที่นี้ก็ได้รับการลงทุนและผลักดันการเติบโตให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันอออก (สกพอ.) ได้จัดงานแถลงข่าวออนไลน์ EEC connecting Thailand and Japan Collaboration 2021 ในแนวคิด "Digital Manufacturing Platform" ร่วมกับพันธมิตร บริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น เพื่อประกาศความพร้อมในการเปิดตัว EEC Automation Park ซึ่งสะท้อนความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในเขต EEC ในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม

โดยภายในงาน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี ได้กล่าวถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนภาคการผลิตผ่านระบบดิจิทัล (Digital Manufacturing Platform) ซึ่งบริษัทมิตซูบิชิฯ ได้นำเสนอ e-F@ctory ที่นำมาสู่การจัดตั้ง e-F@ctory Alliance และ EEC Automation Park เพื่อเป็นโชว์รูมของการใช้ระบบหุ่นยนต์และออโตเมชั่นอัจฉริยะในสายการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ โดยได้รับประโยชน์จากการที่ อีอีซี มีการติดตั้งสัญญาณ 5G อย่างทั่วถึงในพื้นที่เป็นแห่งแรกในอาเซียน และเพื่อเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในสายการผลิต

คุณอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธาน JETRO Bangkok ตอกย้ำว่าประเทศไทยยังเป็นตลาดที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสองประเทศมาตลอดผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่นการจับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและไทยแล้วกว่า 50 บริษัทในปีที่ผ่านมา รวมถึงจัดประชุมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ 

อาจกล่าวได้ว่า EEC Automation Park ไม่อาจสมบูรณ์หากขาดระบบสายการผลิตอัจฉริยะ หรือ e-F@ctory จากบริษัทมิตซูบิชิฯ ซึ่งคุณวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการของบริษัท กล่าวว่าระบบที่จะช่วยให้เกิดความพร้อมของสายการผลิตสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับ  ดร. อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร (EEC HDC) ซึ่งเป็นผู้เชื่อมโยงพันธมิตรจากหลายภาคส่วนให้เกิด EEC Automation Park และเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรคุณภาพที่สามารถใช้ระบบดิจิทัลในอุตสาหกรรมให้ได้ไม่น้อยกว่า 120,000 คนภายใน 3 ปี

อีกท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนา EEC Automation Park ก็คือ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาการศึกษาบุคคลากรและเทคโนโลยี สกพอ. โดย ดร.ชิต เสริมว่า EEC Automation Park จะช่วยผลิตบุคลากรที่สามารถใช้นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติผ่านหลักสูตรอบรมที่ร่วมมือกันพัฒนากับกลุ่มผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ที่นำโดย ดร. ประพิณ อภินรเศรษฐ์ และภายใต้การดูแลของ ดร. ไพบูลย์ ลิ้มปิติพาณิชย์ ผู้อำนวยการของ EEC Automation Park ตลอดจนมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ ให้สามารถเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมไทยได้เต็มประสิทธิภาพ