ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศแนะ เพิ่มความยืดหยุ่น จุดความได้เปรียบทางอุตสาหกรรม
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังสร้างความท้าทายให้กับภาคอุตสาหกรรม รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาค้นคว้าประเด็นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศและนำมาเผยแพร่แก่สังคม ได้วิเคราะห์ว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงมีโอกาสเดินหน้า รวมทั้งให้มุมมองที่น่าสนใจแก่ผู้ประกอบการในการปรับตัวอย่างยั่งยืน
“ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2564-2565 นี้ จะมีสี่ปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่คุณค่า (value chain), การรักษาดุลอำนาจระหว่างประเทศ, เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลก (disruptive technology) และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสี่ปัจจัยนี้ อาทิ ทำให้เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่คุณค่า เพราะหลายประเทศต้องหันมาใช้บริการห่วงโซ่ภายในภูมิภาคหรือในประเทศมากกว่าในระดับสากล บางกรณีก็เร่งปฏิกิริยาให้รวดเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เช่นในกรณีของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลก ซึ่งการล็อกดาวน์และทำงานจากที่บ้านสร้างความตื่นตัวให้ผู้คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านธุรกิจ การศึกษา และการใช้ชีวิต
การรักษาดุลอำนาจระหว่างประเทศใหญ่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและจีน ตลอดจนประเทศพันธมิตรจะเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง เพราะนโยบายที่ทยอยออกมาอาจส่งผลต่อภาคการผลิตของไทย เช่นในเรื่องของพลังงานสะอาดของสหรัฐอเมริกา และยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (dual circulation) ของจีน ในฐานะที่ไทยเป็นผู้รับช่วงผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและส่งออกไปยังหลายประเทศ ผู้ประกอบการไทยควรหันมาทบทวนธุรกิจหลักของตัวเอง ศึกษาแนวโน้ม และหาแนวทางพัฒนาร่วมกับพันธมิตรทางอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มทางเลือกในการดำเนินธุรกิจให้ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในอนาคต
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ดี มีความสัมพันธ์อันเป็นมิตรกับทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่จะมุ่งเน้นเอเชียมากขึ้นของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเราควรใช้จุดเด่นนี้ด้วยการร่วมมือกับทุกประเทศ และหาแนวทางลดต้นทุน เพิ่มการทำสนธิสัญญาการค้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้น
โอกาสในอนาคตของประเทศไทยจะมาจากอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ เพราะไทยมีจุดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม อาหาร และศิลปะ ซึ่งนำมาต่อยอดเพื่อสร้างฐานลูกค้าได้เช่นเดียวกับเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีโอกาสด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูง เพราะคนรุ่นใหม่มากมายมีความสามารถในการออกแบบเทคโนโลยีและแอปพลิเคชัน ซึ่งถ้าได้รับการสนับสนุนทางระบบนิเวศ (ecosystem) และภาวะความเป็นผู้นำ เราจะก้าวไกลในตลาดโลก”
งานแสดงสินค้า โอกาสพัฒนาธุรกิจ เฟ้นหาพันธมิตร พิชิตใจลูกค้า
“งานแสดงสินค้าเป็นเวทีที่มีเงื่อนไขทางพื้นที่และเวลา ผู้ร่วมงานจึงคัดสรรสินค้าที่เด่นจริงๆ มาจัดแสดง ในทางกลับกันก็เปิดโอกาสให้ศึกษาสินค้าเด่นของผู้ร่วมงานรายอื่นๆ ช่วยให้ขยายวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ ได้พบปะว่าที่พันธมิตรทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกันและข้ามอุตสาหกรรม เกิดการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมที่สามารถนำไปพัฒนาสายการผลิตให้ยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อได้พบปะลูกค้าจำนวนมาก ก็เท่ากับโอกาสที่จะได้รับข้อมูลมหาศาลอันเป็นประโยชน์จากลูกค้าโดยตรง ซึ่งสามารถนำมาสกัดให้เป็นองค์ความรู้ วางแนวทางเสริมความเข้มแข็งให้ธุรกิจในระยะยาวได้”