Manufacturing Expo Logo
18 - 21 มิถุนายน 2568

ส่องเทรนด์การใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมของประเทศไทย

  •  สังคมผู้สูงอายุ ความปลอดภัยในโรงงาน ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางการผลิต เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
  • โคบอท เป็นเทรนด์การใช้หุ่นยนต์ที่มาแรงและได้รับความนิยมจากหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย 

การใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์จะแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลกทั้งในภาคการผลิตและบริการ เมื่อปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ข้อมูลจากกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยระบุว่าไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ย่อมประสบปัญหานี้เช่นกัน ขณะที่งานที่เสี่ยงต่อความปลอดภัย เช่น การเคลื่อนย้ายสิ่งของในธุรกิจโลจิสติกส์ รวมทั้งงานในไลน์ผลิตของภาคอุตสาหกรรม ต่างมีความจำเป็นในการนำหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มมากขึ้น 

 

ข้อมูลที่น่าสนใจและบ่งชี้ว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการใช้หุ่นยนต์ก็คือ ปี 2565 ไทยมีการติดตั้งหุ่นยนต์ใช้งานในอุตสาหกรรมประมาณ 3,300 ตัว อยู่ในอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ ตามรายงาน World Robotics 2023 ของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics) แสดงให้เห็นว่าบ้านเราได้นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม เทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โลหะและการขึ้นรูป การแพทย์และเครื่องสำอาง พลาสติกและโพลิเมอร์ การศึกษาและวิทยาศาสตร์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ซึ่งรวมถึงการใช้หุ่นยนต์สำหรับงานต่าง ๆ เช่น การประกอบ การเชื่อม และการจัดการวัสดุ

 

หนึ่งในเทรนด์ที่เห็นชัดเจนที่สุด คือการใช้ "หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน" (Cobot) ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ  Universal Robots ผู้ผลิตโคบอทรายใหญ่ที่สุดของโลกจากเดนมาร์ก ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่ง และเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในประเทศไทย ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการอีวีในไทยใช้โคบอทในการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดได้เปิดตัว UR30 โคบอทขนาดกะทัดรัดที่รับน้ำหนักได้มากถึง 30 กก. ใช้พื้นที่ติดตั้งขนาดเล็ก และมีรัศมีการทำงาน 1,300 มม. จึงสามารถหยิบจับชิ้นงานให้เครื่องจักรขนาดใหญ่ จัดวางผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมากลงบนพาเลท และยังใช้ในงานขันสกรูด้วยแรงบิดสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็มีการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์อย่างแข็งขันเพื่อใช้งานภายในประเทศและส่งออกเช่นกัน ตัวอย่างเช่น SCG ได้พัฒนา CiBot™ หุ่นยนต์ตรวจสอบท่อในเตาปฏิกรณ์โรงงาน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโลกที่ทำให้สามารถตรวจวัดสภาพและประเมินอายุการใช้งานของท่อได้อย่างปลอดภัย ละเอียด แม่นยำ รวดเร็ว ลดต้นทุนการผลิต ลดการสูญเสียทรัพยากร และส่งผลดีต่อทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้รับความไว้วางใจจากหลากหลายอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก ทั้งโรงงานปิโตรเคมี และโรงงานที่มีเตาปฏิกรณ์ในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ โรงงานผลิตไนโตรเจน โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานผลิตแอมโมเนีย เป็นต้น  โดยมีการใช้งานจริงทั้งในประเทศไทย เกาหลีใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา 

 

นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์ทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการแพทย์ ตั้งแต่งานบริการง่าย ๆ ไปจนถึงงานที่สลับซับซ้อนและต้องการความปลอดภัยสูง เช่น หุ่นยนต์สนับสนุนการบริการเวชศาสตร์นิวเคลียร์ครั้งแรกของไทย นวัตกรรมจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ที่สนับสนุนการบริการในการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน ทั้งยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ ลดปริมาณรังสีที่จะได้รับโดยตรงในระหว่างรักษาผู้ป่วยอีกด้วย 

 

สำหรับแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมของประเทศไทยคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมทึ่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอนาคตของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยใช้มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ  อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นห่วงโซ่อุปทานสำคัญที่จะเร่งอัตราการใช้งานหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น 

 

โปรดอย่าพลาดเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่บล็อกของเรา เพราะจะนำมาเสิร์ฟทุกท่านอย่างต่อเนื่อง และหากท่านใดต้องการสัมผัสกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านนี้ ต้องไม่พลาดเยี่ยมชมงาน Assembly & Automation Technology 2024 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีระบบ และโซลูชั่นเพื่อสายการผลิตและภาคบริการอัตโนมัติ ที่ครบครันที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 23 ในวันที่ 19-22 มิถุนายน 2567 ณ  ไบเทค  บางนา!

 

Sources